วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สํานวนสุภาษิต
สำนวน หมายถึง ถ้อยคําที่เรียบเรียง, โวหาร, บางทีก็ใช้ว่า สํานวนโวหาร
เช่น สารคดีเรื่องนี้สํานวนโวหารดี ความเรียงเรื่องนี้สํานวน
โวหารลุ่ม ๆ ดอน ๆ; คดี เช่น ปิดสำนวน; ถ้อยคําหรือข้อความ
ที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายไม่ตรงตาม
ตัวหรือมีความหมายอื่น แฝงอยู่ เช่น สอนจระเข้ให้ว่ายนํ้า
รําไม่ดีโทษปี่โทษกลอง, ถ้อยคําที่แสดงออกมาเป็นข้อความ
พิเศษ เฉพาะภาษาหนึ่ง ๆ เช่น สํานวนฝรั่ง สํานวนบาลี,
ชั้นเชิงหรือท่วงทํานองในการแต่งหนังสือหรือพูด เช่น สํานวน
เจ้าพระยาพระคลัง (หน) สํานวนยาขอบ สํานวนไม้ เมืองเดิม;
ลักษณนามใช้เรียกข้อความหรือบทประพันธ์รายหนึ่ง ๆ เช่น
อิเหนามีหลายสํานวน บทความ ๒ สํานวน

สุภาษิต หมายถึง ถ้อยคําหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว
มี ความหมายเป็นคติสอนใจ เช่น รักยาวให้บั่นรักสั้นให้ต่อ นํ้าเชี่ยวอย่าขวางเรือ

คำพังเพย หมายถึง ถ้อยคําหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว โดยกล่าวเป็นกลาง ๆ เพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่อง เช่น กระต่ายตื่นตูม
เมื่อพูดถึงสัตว์เลี้ยงอย่างแมว หลายคนอาจนิยมชมชอบในความน่ารัก ขี้อ้อน ช่างเอาใจ ซึ่งบางครั้งก้อมาพร้อมกับความซุกซน แต่ก็แฝงไว้ด้วยความฉลาดเฉลียว หลาย ๆ ท่านอาจจะชอบเลี้ยงแมวด้วยสาเหตุเหล่านี้ ขณะที่บางครอบครัวอาจเลี้ยงแมวไว้เพราะความเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์นำโชค เลี้ยงแมวแล้วจะดี ความเชื่อเหล่านี้อาจสะท้อนได้จากวัฒนธรรมประเพณีของไทย ที่มักจะมีแมวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมด้วย เช่น พิธีแห่นางแมวขอฝน พิธีการแต่งงาน เป็นต้น

           เช่นเดียวกัน สำนวนสุภาษิตของไทย ที่บางสำนวนก็จะมีแมวเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องด้วย เรามาลองดูกันดีกว่าว่าสำนวนที่จะนำเสนอต่อไปนี้ สำนวนใดบ้างที่คุณรู้จัก


ที่เท่าแมวดิ้นตาย
           มีที่มาจากนิทานพื้นบ้าน เรื่อง "ศรีธนญชัย" ตอนที่ศรีธนญชัยกราบทูลขอที่ดินจากพระเจ้าแผ่นดิน ขอเพียงที่เท่าแมวดิ้นตายเท่านั้น พระเจ้าแผ่นดินเห็นว่าเป็นที่ดินเพียงเล็กน้อย จึงทรงอนุญาต ศรีธนญชัยได้ทีจึงเอาแมวตัวหนึ่งมาผูกเชือกที่คอ แล้วเฆี่ยนให้แมวดิ้นไปเรื่อย ๆ กว่าแมวตัวนั้นจะตายก็กินพื้นที่เป็นอาณาบริเวณกว้าง

          
จากนิทานเรื่อง ศรีธนญชัย "ที่เท่าแมวดิ้นตาย" จะหมายถึง ที่ดินจำนวนมาก แต่ในการใช้เป็นสำนวน จะหมายถึง ที่ดินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แมวไม่อยู่ หนูละเลิง
           อย่าคิดว่า เขียนผิด หรือสะกดผิดนะคะ คำว่า ละเลิง เป็นคำเก่าที่มีความหมายว่า เหลิงจนลืมตัว ลำพอง หรือคึกคะนอง แต่ในปัจจุบันมักจะใช้ "แมวไม่อยู่ หนูร่าเริง"

           สำนวนนี้หมายถึง เวลาที่ผู้ให่ไม่อยู่ผู้น้อยก็เล่นกันคึกคะนอง ลำพองตน ที่ว่าสำนวนนี้น่าสนใจก็เพราะว่า การเอาธรรมชาติของหนูที่กลัวแมวมาเปรียบเทียบ โดยเปรียบแมวเป็นผู้ใหญ่ เปรียบหนูเป็นผู้น้อยนั่นเอง และบางโอกาสสำนวนนี้ก็จะมีคำต่อท้ายสำนวนด้วย คือ
"แมวไม่อยู่ หนูร่าเริง แมวมาหลังคาเปิง"
นั่นคือเวลาผู้ใหญ่ไม่อยู่ ผู้น้อยก็เล่นกันอย่างเมามัน สนุกสนาน ครั้นผู้ใหญ่กลับมาก็ลนลาน รีบเก็บกวาดข้าวของและสถานที่ให้อยู่ในสภาพปกติ เสมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น


ฝากเนื้อไว้กับเสือ ฝากปลาย่างไว้กับแมว
          
มีที่มาจากบทเสภาหลวงเรื่อง "ขุนช้าง-ขุนแผน" ตอนที่ขุนแผนทิ้งนางวันทองไว้กับขุนช้าง แล้วขุนแผนก็คิดว่า "เราฝากวันทองไว้กับขุนช้างเหมือนฝากปลาย่างไว้กับแมว"
เพราะขุนช้างก็รักนางวันทองเช่นกัน ดังคำประพันธ์จากบทเสภาหลวงเรื่อง ขุนช้าง-ขุนแผน ดังนี้

           เนื้อตกถึงเสือหรือจะงด    อร่อยรสค่อยกินเป็นภักษา

           ทิ้งไว้ให้มันสองเวลา    เจ้าแก้วตานี้จะเป็นประการใด

           สำนวนนี้บางทีอาจใช้ว่า "ฝากอ้อยไว้กับช้าง ฝากปลาย่างไว้กับแมว" ก็ได้ทั้งสองแบบ เพราะทั้งสองแบบมีความหมายเหมือนกันคือ ฝากสิ่งใดไว้กับผู้ที่ชอบสิ่งนั้น ย่อมสูญเสียให้กับผู้นั้นไป


หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว
           มีความหมายว่า การทำประชดหรือแดกดันที่ผู้ทำรังแต่จะเสียประโยชน์ ตัวอย่างเช่น คุณยกสมบัติให้เขาไปแบบนี้ เหมือนหุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว เขายิ่งชอบใจ เอาไปถลุงใช้เพลินไปเลย เป็นต้น

           สำนวนนี้มีที่มาจากความจริงที่ว่า โดยทั่วไปแล้ว หมาชอบข้าว และแมวก็ชอบกินปลา ดังนั้น เมื่อหุงข้าวหรือปิ้งปลาให้ ทั้งหมาและแมวก็กินเสียเพลิน มีความสุข แต่คนหุงคนปิ้งกลับเสียของเอง เปรียบเหมือนเราโกรธใครแล้วให้ในสิ่งที่ผู้นั้นขอเพื่อเป็นการประชดแดกดัน ก็เท่ากับเข้าทางเขา และผู้ที่เสียประโยชน์ก็คือตัวเราเอง เพราะไหนจะไม่หายโกรธแล้ว ยังต้องเสียของไปอีก

           เรียกว่าเป็นการประชดแดกดันอย่างไม่ถูกทาง และทำให้เสียหายเพิ่มขึ้น ดังเช่นคำประพันธ์จากสุภาษิตคำโคลงของสำนวน "หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว" ดังนี้

           ประชดหมายเรียกร้อง    เห็นใจ

           จึงทุ่มเทกลับไป    เฉกแสร้ง

           เขารอรับเร็วไว    ทุกสิ่ง เสนอนา

           เกิดก่อประโยชน์แล้ง    ต่างล้วนคือสูญ


ย้อมแมวขาย
           เป็นสำนวนที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ ในหมู่ของนักธุรกิจผู้ทำการค้า ในสมัยโบราณคนมักนิยมเลี้ยงแมวไว้เป็นเพื่อนแก้เหงา และเพื่อนก็มักต้องการให้เพื่อนดูดี สวยงาม คนสมัยโบราณจึงใช้ขมิ้นบ้าง ปูนบ้าง มาย้อมสีขนของแมวให้มีสีสันที่สดใสสวยงามเป็นที่สะดุดตา จึงเป็นที่มาของสำนวน

          
บางตำราก็ว่าสำนวนนี้มี ที่มาจากบรรดาแมวมงคลทั้งหลาย ซึ่งนิยมเลี้ยงในหมู่เจ้าขุนมูลนาย หากชาวบ้านนำแมวลักษณะดีถูกต้องตามตำรามาขายก็จะให้ราคางาม จึงเกิดการ "ย้อมแมว"
คือจับเอาแมวทั่วไปมาแต้มแต่งให้ดูมีลักษณะเหมือนแมวมงคล แล้วจึงนำไปหลอกขาย สำนวนย้อมแมวขายในปัจจุบันมักจะใช้ในการทำธุรกิจการค้าที่หวังผลกำไร หลอกขายสินค้าที่ภายนอกดูดี แต่แท้ที่จริงแล้วด้อยคุณภาพ

           บางโอกาสอาจใช้ในการพูดประชดประชัน เสียดสีสาวงามที่เข้าประกวดตามเวทีต่าง ๆ ที่มักถูกปรับโฉมให้สวยงามหลอกสายตาคณะกรรมการ ตรงตามความหมายของสำนวนคือ ตกแต่งสิ่งที่ไม่ดี ไม่สวยงาม โดยมีเจตนาให้ผู้อื่นเชื่อว่าเป็นของดี

           สำนวนทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีที่มาและความหมายแฝงอยู่ แต่ละสำนวนเมื่อฟังแล้วอาจจะให้ความรู้สึกไม่ดี อาจจะฟังแล้วคิดไปในทางที่ลบ บางสำนวนอาจใจร้ายกับแมว หรือมองว่าแมวเป็นสัตว์ที่ไม่น่าไว้วางใจ อาจเป็นเพราะสุภาษิตสำนวนเหล่านี้มีมาแต่โบราณ โดยสำนวนเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งยุคสมัยนั้นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับแมวอาจยังมีระยะห่างระหว่างกัน 

       แต่จากการที่คนไทยรู้จักสังเกตอากัปกิริยาของแมวแล้วนำมาฝูกเป็น สำนวนได้ นั่นอาจจะทำความเข้าใจได้ว่า ระหว่างคนไทยกับแมวในสมัยก่อนย่อมมีความผูกพันกันในระดับหนึ่ง เพียงแต่อาจจะยังไม่กระชับแน่นแฟ้นดังเช่นความรู้สึกที่คนรักแมวมีให้แก่แมว แสนรักในยุคสมัยนี้ก็เป็นได้...ว่าไหมคะ

 

กระต่ายหมายจันทร์                                                           เห็นกงจักรเป้นดอกบัว